องค์ความรู้

rss

องค์ความรู้เกี่ยวกับเอกสารโบราณ

กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร เป็นหน่วยงานหลักในการจัดเก็บ ดูแลอนุรักษ์ เอกสารโบราณที่มีอายุนับ ๑๐๐ ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาอันล้ำค่าของบรรพชนไทยที่ได้สร้างขึ้นเพื่อบันทึกข้อมูลวิทยาการสาขาต่างๆ เรื่องราวหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชาติไทยทั้งเป็นภาพสะท้อนให้เห็นอารยธรรม และศิลปวัฒนธรรมที่วิวัฒนาการสืบทอดมานับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญเกี่ยวกับเอกสารโบราณที่มีมากที่สุดในประเทศไทย

คู่มือการอ่านและแปลภาษาโบราณ- ภาษาบาลี.jpg

คู่มือการอ่านและแปลภาษาโบราณ- ภาษาบาลี

           เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ภาษาบาลี เป็นภาษาจารึกพระพุทธวจนะ หรือพระไตรปิฎกของพระพุทธศาสนา ฝ่ายเถรวาทมาตั้งแต่เริ่มแรก โดยใช้อักษรของแต่ละประเทศที่มีพระพุทธศาสนาฝ่ายนี้ในการเขียน ส่วนการอ่านออกเสียงอาจแตกต่างกันบ้าง แต่ก็สามารถสื่อสารเข้าใจกันได้ ดังนั้น ภาษาบาลี จึงเป็น ความเป็นความตายของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท เพราะตราบใดยังมีการศึกษาบาลีกัน ตราบนั้นพระพุทธศาสนา ย่อมดำรงอยู่ได้ หาไม่แล้ว เห็นจะล่มสลายเป็นแน่แท้

           และโดยที่ภาษาบาลี เป็นตันติภาษา คือมีหลักไวยากรณ์ที่สมบูรณ์แบบเป็นภาษาที่สละสลวยไพเราะอย่างยิ่ง พระไตรปิฎกภาษาบาลี ถือว่าเป็นสุดยอดของวรรณกรรมในบรรณโลกทีเดียว ดังนั้น ผู้แรกศึกษา จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ไวยากรณ์เป็นเบื้องต้น ให้เข้าใจถี่ถ้วนก่อน จึงค่อยแปลเป็นภาษาอื่น ขณะเดียวกัน การเขียน การอ่าน การสาธยาย หรือ การสวด ก็ต้องฝึกหัดไปด้วย เพราะการศึกษาภาษาบาลีในปัจจุบัน มุ่งไปที่การเขียน การอ่าน การแปล และการสาธยาย มิได้เน้นการพูดเหมือนภาษาอื่น ๆ อนึ่ง โดยที่ภาษาบาลี เป็นภาษาที่พระพุทธองค์ทรงเลือกและตรัสสอนพระศาสนาเป็นส่วนมาก จึงเป็นภาษาที่ศักดิ์สิทธิ์ จะเห็นได้ในสังฆกรรมต่าง ๆ มีการบรรพชาอุปสมบท เป็นต้น ต้องใช้ภาษาบาลีทั้งสิ้น และยังมีสิ่งลี้ลับอยู่ในภาษาบาลีอีกอย่างหนึ่ง ที่น่าสนใจ ก็คือ อักขระทุกตัวในภาษาบาลี เป็นยาอายุวัฒนะอย่างวิเศษ ทำให้สุขภาพพลานามัยแข็งแรงอย่างน่าอัศจรรย์ หากผู้สาธยายสามารถสาธยายได้ถูกต้องทุกตัวอักษร ไม่ว่าสระ หรือพยัญชนะ

           การที่ คุณวัฒนา พึ่งชื่น (เปรียญ) นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ ได้จัดทำคู่มือการอ่านและแปลภาษาโบราณ : ภาษาบาลี เล่มนี้ขึ้น ด้วยความศรัทธา และวิริยะเป็นอย่างยิ่ง มีสารัตถะที่สมบูรณ์ทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นไวยากรณ์ การอ่าน การแปลภาษาบาลี และอื่น ๆ จึงขอแสดงความชื่นชม และหวังว่า คู่มือการอ่านและแปลภาษาโบราณ : ภาษาบาลี เล่มนี้ จะอำนวยประโยชน์แก่ผู้ใคร่ต่อการศึกษาภาษาบาลีอย่างดียิ่ง อีกเล่มหนึ่ง ในโลกปัจจุบัน

พระพรหมกวี
เจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร



Comments are closed.