6 มกราคม คู่มือการอ่านถ่ายถอดอักษรขอม มกราคม 6, 2021 By SuperUser Account การอ่านถ่ายถอดอักษรโบราณ การอ่านถ่ายถอดอักษรโบราณ 0 อักษรขอมเป็นอักษรโบราณของไทยแบบหนึ่งปรากฎใช้ในเอกสารโบราณทุกประเภท ทั้งจารึก หนังสือสมุดไทย และคัมภีร์ใบลาน โดยเฉพาะคัมภีร์ใบลานที่พบในภาคกลางของประเทศส่วนที่บันทึกเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา มักจารข้อความด้วยอักษรขอมเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากคนไทยแต่โบราณมีความเชื่อถือสืบต่อกันมาว่า อักษรขอมเป็นอักษรที่ศักสิทธิ์ นอกจากใช้บันทึกเนื้อความในพระไตรปิฎกแล้ว ยังใช้จารหรือเขียนเป็นบทมนตร์คาถาและยันต์ต่างๆ ทั้งในตำราเวชศาสตร์ โหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ อันเป็นความเชื่อที่มีมาแต่โบราณและยังคงมีใช้สืบมาจนถึงปัจจุบัน ผู้ที่สนใจจะหาความรู้จากเอกสารโบราณ ส่วนใหญ่จำเป็นต้องอ่านอักษรขอมได้ อย่างไรก็ตาม อักษรขอมจัดเป็นอักษรที่อ่านได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากรูปแบบอักษรขอมหลายตัวมีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน อีกทั้งยังมีทั้งรูปอักษรตัวเต็ม อักษรตัวเชิง สระลอย สระจม ซึ่งวิธีการใช้แตกต่างกัน ผู้เรียนต้องศึกษาและจดจำรูปอักษรขอมเป็นพื้นฐานก่อนที่จะพัฒนาไปสู่การอ่านแล้วจึงสามารถถ่ายถอดอักษรขอมได้ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรตระหนักถึงความสำคัญของการรวบรวมองค์ความรู้ด้านการอ่านถ่ายถอดอักษรโบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอักษรขอม จึงได้มอบหมายให้กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก โดยมีนายจุง ดิบประโคน นักภาษาโบราณชำนาญการ เป็นประธานคณะทำงานจัดทำคู่มือการอ่านถ่ายถอดอักษรขอม โดยเรียบเรียงขึ้นจากประสบการณ์การปฏิบัติงาน และรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมจากเอกสารโบราณ และเอกสารวิชาการต่างๆ เพื่อให้ถูกต้องมากที่สุด โดยนำมาเรียบเรียงเรื่องเริ่มจากการเรียนรู้ตัวอักษรแต่ละประเภท วิธีการเขียนอักษรแต่ละตัว การผสมกับพยัญชนะ และท้ายที่สุดสามารถอ่านถ่ายถอดเป็นอักษรปัจจุบันได้ ในแต่ละบทมีแบบฝึกหัดให้ทดลองปฏิบัติเพื่มเพิ่มความชำนาญแต่ผู้เรียน กรมศิลปากรหวังว่าคู่มือการอ่านถ่ายทอดอักษรขอมเล่มนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจศึกษาค้นคว้าเอกสารโบราณตามสมควร Attached Files หนังสือคู่มือการอ่านถ่ายถอดอักษรขอม.pdf 24.64 MB Comments are closed.