รายละเอียดเกร็ดความรู้จากเอกสารโบราณ

แกงตับเหล็ก
หมวดหมู่: เกร็ดความรู้จากเอกสารโบราณ เผยแพร่เมื่อ: 25 ก.พ. 2568โดย:Ratanaphorn Saardoadจำนวนผู้เข้าชม:62
เรียบเรียงโดย : นางสาวยุวเรศ วุทธีรพล นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก

"แกงตับเหล็ก" ถ่ายถอดเนื้อหาโดยนางสาวยุวเรศ วุทธีรพล นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก เนื้อหามีดังนี้


หนังสือสมุดไทยเกี่ยวกับตำราอาหาร ที่มีการบันทึกไว้นั้นมีหลายเล่มทั้งบันทึกอาหารคาว ขนมหวาน ผลไม้และเครื่องปรุงต่าง ๆ ซึ่งจัดอยู่ในหมวดตำราเบ็ดเตล็ด  แต่พบหนังสือสมุดไทยเล่มหนึ่งได้มีรายการอาหารแทรกไว้ในเรื่องตำราเงินต่าง ๆ หมวดตำราเบ็ดเตล็ด เลขที่ ๑๖๔  ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเงินเหรียญกษาปณ์แบบต่าง ๆ โดยรายการอาหารที่เขียนแทรกไว้นั้นมีรูปแบบการเขียนที่แปลกไปจากเล่มอื่น ๆ โดยมีบทคาถาภาษาบาลีในตอนต้นข้อความแล้วจึงบอกส่วนประกอบของวัตถุดิบและเครื่องปรุง จากนั้นอธิบายวิธีการปรุงตามลำดับ  นับว่าเป็นรูปแบบที่น่าสนใจและควรต้องบันทึกไว้ว่าคนไทยมีวิธีการเขียนตำราอาหารที่สร้างสรรค์เพียงใด
จากที่ได้นำเสนอ “แกงปลาไหล” ไปแล้วในสัปดาห์ก่อน วันนี้จึงขอนำเสนออาหารรายการสุดท้ายที่ได้บันทึกไว้ในหนังสือสมุดไทย หมวดตำราเบ็ดเตล็ด เลขที่ ๑๖๔  คือ “แกงตับเหล็ก” ดังนี้ “๏ รตนตฺตยํ วนฺทิตฺวา ภาสิสฺสามิ ยถารหํ วราหยกนสูปํ สูทานํ สุขโพธิยา” คาถาภาษาบาลีบทนี้แปลความได้ว่า “ข้าพเจ้ากราบไหว้แล้วซึ่งพระรัตนตรัย จักกล่าวซึ่งแกงตับหมู ตามความรู้แจ้งแห่งความสุขของพ่อครัวทั้งหลาย ตามสมควร ฯ”
จากนั้นจึงเริ่มอธิบายเครื่องปรุงและวิธีการปรุง ดังนี้ “สิทธิการิยะ ผิว่าจะแกงตับเหล็ก เอาตับอ่อนสุกร ๑ ไข่ดันสุกร ๑ เนื้อสันหลังสุกร ๑ ๓ สิ่ง ล้างน้ำเกลือให้หมดมลทิน หั่นเป็นชิ้น หยุดไว้ก่อน
จึงเอาภาชนะตั้งไฟขึ้น แล้วจึงเอาเปลวสุกร ๑ มันสุกร ๑ ทั้ง ๒ สิ่งนี้ เจียวให้เป็นน้ำมัน เอากระเทียมศีรษะ ๑ หอมศีรษะ ๑ ปอกให้หมดเปลือก หั่นขวางกลีบ เจียวน้ำมันลงให้กรอบเกรียมแล้ว ตักขึ้นเสียสิ้น จึงเอาน้ำร้อนเทลงในภาชนะนั้น เคี่ยวให้เดือดอีกพลุ่งหนึ่งแล้วจึงเอาของสามสิ่งซึ่งหั่นไว้ แต่ก่อน มีตับอ่อนสุกร เป็นต้น เทลงในภาชนะนั้น เคี่ยวให้เดือดอีกพลุ่งหนึ่งแล้วจึงเอาน้ำเคยเหยาะลงพอสมควร แล้วเอาน้ำส้มสายชูเหยาะลง แล้วเอาพริกไทย น้ำตาลกรวด ป่นให้ละเอียดเทลง แล้วเอากระเทียมปอกเปลือกหั่นตามกลีบเทลง เคี่ยวให้เดือดอีกพลุ่งหนึ่งจึงเอาหอม ผักชี โรยลง จึงปลงภาชนะลง ตักลงชาม ควรแล๚ะ๛”
จบวิธีแกงตับเหล็กแต่เพียงเท่านี้ สำหรับ “ตับเหล็ก”นั้น หมายถึง ตับอ่อนหรือม้ามของหมู เรามักจะเคยได้ยินจาก “กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ว่า “ตับเหล็กลวกหล่อนต้ม  เจือน้ำส้มโรยพริกไทย โอชาจะหาไหน ไม่มีเทียบเปรียบมือนาง” “แกงตับเหล็ก” ตำรับนี้จึงเป็นการปรุงอาหารโบราณจากตับอ่อนของหมูที่มีการบันทึกไว้ในหนังสือสมุดไทยอีกหนึ่งรายการ
ผู้เรียบเรียงขอกราบขอบพระคุณพระศรีวชิรวาที (ป.ธ.๙) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ให้ความอนุเคราะห์แปลคาถาภาษาบาลี 


บรรณานุกรม
ตำราเงินต่างๆ. หอสมุดแห่งชาติ. หนังสือสมุดไทยดำ. อักษรไทย. ภาษาไทย. เส้นดินสอ. ม.ป.ป. เลขที่ ๑๖๔. หมวดตำราเบ็ดเตล็ด.

Tags

กระบวนแห่           แกงปลาไหล           เขาโค           คัมภีร์           คัมภีร์ใบลาน           คัมภีร์ประถมจินดา           คาถาป้องกันอสนีบาต           คาถาเย ธมฺมา           ค่าวพระอภัยมณี           เครื่องราชูปโภค           จรดจดจาร           จารึกในประเทศไทย           ช้าง           ช้างต้น           ช้างเผือก           ดวงชะตา           ดำน้ำ           เด็ก           ตำรา           ตำราชกมวย           ตำราแผนคชลักษณ์           ตำราฝังหลักเมือง           ตำราไม้ดัด           ตำราโหราศาสตร์           ทวารวดี           ทางชลมารค           ทำนา           เทวดา           นกกระทา           นกเขา           นครเมกกะ           นโม           น้ำฝนต้นข้าว           บัญชีเลก           ใบจุ้ม           ประกาศห้าม           ปลูกเรือน           ปัญญาบารมีหลวง           ผอม           พระไตรปิฎก           พระเทพกุญชร           พระพุทธเจ้า           พระราชพิธี           พระสมุดตำรา           พระอภิธรรม           พาหนะ           พิชัยสงคราม           ฟ้าผ่า           มวยไทย           มหามงคลนารี           เมฆ           แม่ซื้อ           ร้อยดอกไม้           ราชครู พระยา ราชา เสนา มนตรี           เรือพระที่นั่ง           ลักษณะพิสูท           ลุยเพลิง           ว่านยา           ศิลาจารึก           สุนัข           เสาแปดเหลี่ยม           แส๊กอะลี           หนังสือสมุดไทย           หนังสือสมุดไทยขาว           หลักเมือง           หลังปัลลวะ           หัวป่าก์พ่อครัว           ห้ามกล่าวทัก           หินบดยา           อนุตตานทีปนี           อ้วน           อักษรขอม           อักษรปัลลวะ           โอม