กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร เป็นหน่วยงานหลักในการจัดเก็บดูแลอนุรักษ์ เอกสารโบราณที่มีอายุนับ 100 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาอันล้ำค่าของบรรพชนไทยที่ได้สร้างขึ้นเพื่อบันทึกข้อมูลวิทยาการสาขาต่างๆ เรื่องราวหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชาติไทย ทั้งเป็นภาพสะท้อนให้เห็นอารยธรรม และศิลปวัฒนธรรมที่วิวัฒนาการสืบทอดมานับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญเกี่ยวกับเอกสารโบราณที่มีมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเอกสารโบราณดังกล่าวนี้ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก คือ
1. จารึก คือ เอกสารประเภทที่มีรูปอักษรเป็นร่องรอยลึกลงในเนื้อวัตถุต่างๆ ซึ่งสำเร็จด้วยกรรมวิธีจารึก เช่น รูปอักษรที่ปรากฏบนแผ่นศิลา เรียกว่า ศิลาจารึก รูปอักษรที่ปรากฏบนบนแผ่นไม้ เรียกว่า จารึกบนแผ่นไม้ รูปอักษรที่ปรากฏบนแผ่นโลหะ ซึ่งมีลักษณะสี่เหลี่ยมคล้ายใบลาน เช่น แผ่นทอง แผ่นเงิน แผ่นนาก เรียกว่า จารึกลานทอง จารึกลานเงิน และจารึกลานนาก เป็นต้น การกำหนดอายุของจารึก จะยึดเอาความเก่าของอักษรเป็นหลัก เช่น อักษรปัลลวะ เป็นอักษรที่เก่าที่สุดเท่าที่พบศิลาจารึกในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อจากนั้นจะเป็นอักษรขอมโบราณ มอญโบราณ อักษรไทยโบราณ อักษรธรรมล้านนา อักษรธรรมอีสาน อักษรไทยน้อย เป็นต้น
2. คัมภีร์ใบลาน คือ หนังสือที่จารตัวอักษร(เขียนด้วยเหล็กแหลมคม) ลงบนใบลานซึ่งเป็นใบของต้นไม้ชนิดหนึ่ง เรียกว่า ต้นลาน คัมภีร์ใบลานส่วนใหญ่ใช้จารคำสอนในพระพุทธศาสนา เช่น พระไตรปิฎกซึ่งเป็นคัมภีร์หลัก คัมภีร์ใบลานมิใช่จะมีแต่เรื่องทางพระพุทธศาสนาเท่านั้น เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ก็มี เช่น เรื่องกฎหมาย ตำนาน โหราศาสตร์ เวชศาสตร์ เป็นต้น หนังสือใบลานเหล่านี้ส่วนมากจารด้วยอักษรขอม อักษรธรรมอีสาน อักษรธรรมล้านนา อักษรไทยโบราณ เป็นต้น การจัดหมวดหมู่ของคัมภีร์ใบลานสำหรับการสืบค้น จะแบ่งหมวดหมู่ตามรูปอักษรที่จารลงบนใบลาน และเรียงลำดับตามตัวอักษรจาก ก ถึง ฮ เพื่อความสะดวกในการค้นหา
3. หนังสือสมุดไทย คือ เอกสารโบราณที่ทำจากเปลือกไม้ชนิดต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้ทำเป็นกระดาษได้ เช่น เปลือกปอ เปลือกข่อย เปลือกสา ใยสัปปะรด เป็นต้น ทำให้หนาพอสมควร และเป็นแผ่นยาวๆ ติดต่อกันพับกลับไปกลับมาได้ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าใช้รองรับการเขียน การชุบตัวอักษร การเขียนภาพ การเขียนลายเส้นต่างๆ และเขียนได้ทั้ง 2 ด้าน ในลักษณะเป็นหนังสือจดหมายเหตุบ้าง หมายรับสั่งบ้าง ตำนานบ้าง ตำราบ้าง ที่ท่านเรียกว่าหนังสือสมุดข่อย เพราะส่วนมากใช้เปลือกข่อยทำเป็นกระดาษ เมื่อคนไทยเป็นผู้คิดค้นประดิษฐ์ขึ้น จึงเรียกว่าหนังสือสมุดไทย มี 2 สี คือ สีขาวและสีดำ นอกจากหนังสือสมุดไทยนี้แล้วยังรวมถึง กระดาษเพลา ใบจุ้ม ทำจากเปลือกข่อย เปลือกสา และกระดาษฝรั่งซึ่งเป็นกระดาษที่ชาวต่างประเทศผลิตขึ้นด้วย เอกสารเหล่านี้เขียนด้วยอักษรไทยโบราณมีเส้นเขียนสีขาวจากดินสอขาวหรือเปลือกหอย สีเหลืองจากหรดาลหรือรง สีแดงจากชาด สีทองจากทองคำเปลว ใช้บันทึกเรื่องราวต่างๆ
นอกจากนี้ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก ได้จัดแสดงตู้ลายทอง (ตู้ไทยโบราณหรือตู้ลายรดน้ำ) คือ ตู้ที่มีลักษณะเป็นแบบฉบับของไทยโบราณ ทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ตู้พระธรรม มีชั้นวางหนังสือเฉลี่ย 2 – 3 ชั้น สำหรับเก็บรักษาพระไตรปิฎกซึ่งเป็นคัมภีร์หลักในทางพระพุทธศาสนา จะมีวิธีการตกแต่งตู้ไทยโบราณอย่างประณีตงดงาม ทำให้มีการเรียกประเภทของตู้ไปตามลักษณะของการตกแต่งเกิดขึ้น เช่น ตู้ลายรดน้ำ ลวดลายที่นิยมตกแต่ง ได้แก่ ลายกนกเปลวเพลิง ลายกนกรวงข้าว เป็นต้น
รูปภาพที่ใช้เขียนบนตู้ลายทอง ส่วนมากจะเป็นเรื่องพุทธประวัติ รูปรามเกียรติ์ เรื่องราวชาดก รูปสัตว์ป่าหิมพานต์ เป็นต้น และหีบพระธรรม หีบหนังสือสวดหรือหีบพระมาลัย หีบหนังสือเทศน์
กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก
สำนักหอสมุดแห่งชาติ ชั้น 4 อาคารใหม่ ถนนสามเสน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
0 2280 9855
0 2280 9857
เวลาทำการ
จันทร์ - ศุกร์ : 09:00 - 16:00 น.