ศิลาจารึกเมืองพิมาย นม.๑๗
เรียบเรียงโดย : นางสาวชญานุตม์ จินดารักษ์ นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก
"ศิลาจารึกเมืองพิมาย นม.๑๗"
ศิลาจารึกเมืองพิมาย นม.๑๗ นี้ เป็นหินทรายทรงกระโจม จารึกอักษร ๔ ด้าน ด้วยอักษรขอมโบราณ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ภาษาสันสกฤต เนื้อหาว่าด้วย
(๑) บทนมัสการพระพุทธเจ้า พระไภษัชยคุรุ (พระพุทธเจ้าผู้เป็นบรมครูแห่งยารักษาโรค) กับพระศรีสูรยไวโรจนะและพระศรีจันทรไวโรจนะ (พระโพธิสัตว์ผู้มีบารมีขจัดโรคได้) และบทสรรเสริญพระเจ้าศรีชัยวรมัน (พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗) ผู้นำความเจริญมาสู่อาณาจักรขอมและทรงขจัดปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บของประชาชน
(๒) พระราชกรณียกิจของพระองค์ที่ทรงรวบรวมแพทย์หลวงมาจัดสร้าง “อาโรคยศาลา” หรือสถานพยาบาล พร้อมสร้างรูปบูชาของพระไภษัชยสุคตกับพระโพธิสัตว์ทั้งสองประจำสถานพยาบาล เพื่อขจัดโรคภัยของประชาชน ตั้งเจ้าหน้าที่ประจำสถานพยาบาลในแผนกต่างๆ พร้อมมอบวัตถุสิ่งของอันเป็นเครื่องใช้และเครื่องประกอบเภษัชให้
(๓) ขอให้ผู้ดูแลรักษาสถานพยาบาล ผู้ดูแลผู้คนวัตถุสิ่งของที่มอบให้ จงถึงโมกษะ
ความโดดเด่นของจารึกนี้
(๑) มีเนื้อหาสอดคล้องกับจารึกปราสาทตาเมียนโตจ สร.๑ จารึกปราสาท สร.๔ จารึกด่านประคำ บร.๒ อาจสันนิษฐานการเดินทางจากเมืองพระนครหลวงมายังเมืองพิมายโดยผ่านเมืองสุรินทร์และบุรีรัมย์ตามลำดับ
(๒) มีข้อความยาวและชัดเจนจึงสามารถใช้เป็นต้นแบบในการศึกษารูปอักษรและอักขรวิธีของอักษรขอมพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ได้
(๓) ด้านไวยากรณ์ภาษาสันสกฤต เช่น มีการใช้รูปประโยคขอร้อง (Future Passive Participle และ Optative) แทนประโยคคำสั่ง (Imperative) ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นผู้มีเมตตาธรรมของพระราชา เช่น “สํรกฺษณียํ” (พวกท่านควรดูแลรักษา),“น ทณฺฑนียา” (พวกเขาไม่ควรถูกลงโทษ), “น เปฺรษิตวฺยา (คนงานทั้งหลายไม่ควรถูกส่งไปที่อื่น), “โมกฺษปุรํ ลเภรนฺ” (ขอคนทั้งหลายจงได้รับเมืองแห่งการหลุดพ้น), “อุตฺตารเยยํ” (ขอให้ข้าได้พาคนทั้งหลายข้ามมหาสมุทร)
บรรณานุกรม
“ศิลาจารึกเมืองพิมาย นม.๑๗ ภาษาสันสกฤต อักษรขอมโบราณ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘” จัดแสดง ณ กลุ่มหนังสือเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ
จารึกในประเทศไทย เล่ม ๔ อักษรขอม พุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘. กรุงเทพฯ: หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๒๙.
ชะเอม แก้วคล้าย. จารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗. กรุงเทพฯ: หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๒๗.