ศรีชยสิงหวรมัน เป็น นามที่ปรากฏในศิลาจารึก 2 หลัก ที่พบในประเทศไทย หลักหนึ่งเรียนกันมาแต่เดิมว่า "ศิลาจารึกภูเขียว" ตามสถานที่พบ คือ ที่อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ จารึกนี้เป็นจารึกที่พบมานานแล้ว คือ ก่อน พ.ศ. 2475 และศาสตราจารย์ ยอร์ช เซแดส ก็เคยอ่านแปลเป็นภาษาฝรั่งไว้แล้ว ในปี พ.ศ. 2480 ต่อมา นายชะเอม แก้วคล้าย นักภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติ ได้นำมาอ่านและแปลใหม่ และกำหนดศักราชใหม่ โดยตีพิมพ์ไว้ในหนังสือจารึกในประเทศไทยเล่ม 3 กรมศิลปากรจัดพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2529 อีกหลักหนึ่งเป็นหลักที่ได้มาใหม่ โดยร้านสาวไทยแอนติค มอบให้กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเมื่อต้นปี พ.ศ. 2532 และนางสาวจตุพร ศิริสัมพันธ์ นายชะเอม แก้วคล้าย นายบุญเลิศ เสนานนท์ นักภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติ เป็นผู้อ่านและแปล ให้ชื่อตามเนื้อความที่ปรากฏว่า "จารึกศรีชัยสิงหวรมัน"
ศิลปากร
ปีที่ 33 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม-มิถุนายน พ.ศ. 2532