เรียบเรียงโดย : นางศิวพร เฉลิมศรี
วันนี้ขอเสนอเรื่อง "พระสมุดตำราแผนคชลักษณ์" ถ่ายถอดเนื้อหาโดยนางศิวพร เฉลิมศรี นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก เนื้อหามีดังนี้
ช้างเป็นสัตว์ที่มีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับสังคมไทยมาอย่างช้านาน ในความเชื่อของตำราโบราณช้างได้รับการยกย่องให้เป็นสัตว์มงคลนามคู่บารมีของพระมหากษัตริย์ โดยนับเป็นหนึ่งในแก้ว 7 ประการ อันเป็นเครื่องหมายแห่งพระจักรพรรดิราช วันนี้จึงขอนำเสนอต้นฉบับตำราคชลักษณ์ของหอสมุดแห่งชาติที่มีศักราชบ่งชี้ว่าเก่าที่สุด คือ ปรากฎว่าแต่งเมื่อจุลศักราช 1110 ตรงกับพุทธศักราช 2293 รัชกาลสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปลายรัชสมัยกรุงศรีอยุธยา มีนามราชวังเมืองปรากฎอยู่ด้วย เมื่อตรวจสอบจากกฎหมายตราสามดวงแล้วพบว่า มีบรรดาศักดิ์และทินนามเต็มว่า ราชวังเมืองสุริยชาติ เป็นตำแหน่งสมุหพระคชบาลซ้าย
ตำราคชลักษณ์ฉบับนี้บนปกมีชื่อว่า พระสมุดตำราแผนคชลักษณ์ เป็นหนังสือสมุดไทยขาว ลงรักปกเป็นสีดำ เขียนเส้นอักษรด้วยเส้นรงค์ (หมึก,สีน้ำยา) เป็นอักษรขอม-ไทย ภาษาบาลี-ไทย เนื้อหาส่วนใหญ่ว่าด้วยเรื่องลักษณะของช้างตระกูลต่างๆ มีทั้งช้างศุภลักษณ์ และทุรลักษณ์ และรายละเอียดที่น่าสนใจอีกมากมาย เนื้อหาเรื่องช้างในฉบับนี้มีความน่าเชื่อถือค่อนข้างสูง เพราะผู้แต่งมีตำแหน่งเป็นข้าราชการที่ทำงานในกรมคชบาล แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของต้นฉบับเล่มนี้คือ เป็นหนังสือตำราช้างที่มีศักราชเก่าที่สุดเป็นหลักฐาน สามารถนำรูปแบบอักขรวิธีที่ใช้ในต้นฉบับเล่มนี้มาเป็นต้นแบบในการสอบเทียบกับเอกสารฉบับอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี
บรรณานุกรม
“พระสมุดตำราแผนคชลักษณ์”. หอสมุดแห่งชาติ. หนังสือสมุดไทยขาว. อักษรขอม-ไทย. ภาษาบาลี-ไทย. เส้นรงค์ (หมึก,สีน้ำยา). จ.ศ.1110 (พ.ศ.2291). เลขที่ 16. 121 หน้า. หมวดสัตวศาสตร์
“พระสมุดตำราแผนคชลักษณ์”. กรุงเทพฯ: สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2546. 160 หน้า.