รายละเอียดเกร็ดความรู้จากเอกสารโบราณ

ศิลาจารึกพระอภิธรรม สท.19
หมวดหมู่: เกร็ดความรู้จากเอกสารโบราณ เผยแพร่เมื่อ: 21 ต.ค. 2567โดย:นายนิเวศน์ ศรีวรรณะจำนวนผู้เข้าชม:7
เรียบเรียงโดย : นางสาวชญานุตม์ จินดารักษ์

วันนี้ขอเสนอเรื่อง“ศิลาจารึกพระอภิธรรม สท.19” เรียบเรียงโดย นางสาวชญานุตม์ จินดารักษ์ นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ เนื้อหามีดังนี้

      พวกเราคงคุ้นเคยกับการฟังสวดพระอภิธรรมในงานศพ เฉพาะเสียงสวดบทมาติกาที่เยือกเย็นว่า

“กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพฺยากตา ธมฺมา” ชวนให้บรรยากาศในงานศพดูน่ากลัว และถ้าผู้ตายนั้นเป็นบุคคลที่เรารัก ก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกหดหู่ และตระหนักว่า ความตายหรือมรณะ เป็นความทุกข์ เพราะทำให้เกิดการพลัดพรากจากคนที่เรารัก แต่หากเราเข้าใจความหมายที่แท้จริงของบทสวดนี้แล้ว จะทำให้เราหายเศร้าโศกไม่เป็นทุกข์ และเห็นว่า ความตายหรือมรณะ เป็นเพียงสภาวธรรม ที่เกิดขึ้นเพราะมีการเกิดเป็นเหตุ การเกิดในที่นี้คือ การเกิดการยึดมั่นว่า เป็นตัวเรา ของเรา ส่งผลให้ยึดมั่นว่า มรณะ คือ เราเป็นผู้พลัดพราก เราเป็นผู้สูญสิ้น ดังนั้นสภาวธรรมหรือความสุขความทุกข์ทั้งหลายจึงเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ไม่มีพระเจ้าองค์ใดกำหนด ดังความหมายที่นำเสนอในรูปแบบการจารึกเนื้อหาลงบนศิลาจารึกพระอภิธรรม สท.19 ที่จัดแสดง ณ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ

          ศิลาจารึกพระอภิธรรม สท.19 นี้ บันทึกเป็นภาษาบาลี อักษรขอมสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ 20 มีรูปแบบการบันทึกที่แสดงความชาญฉลาดของคนโบราณ เพราะทำให้ผู้อ่านเข้าใจและจดจำข้อธรรมที่เป็นหัวใจของพระอภิธรรมปิฎกหรือพระอภิธรรม 7 คัมภีร์ได้ง่าย พุทธศาสนิกชนส่วนมากมีความเชื่อว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระอภิธรรมครั้งแรกเมื่อคราวเสด็จไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพุทธมารดา

          ศิลาจารึกนี้ มีการตีกรอบเป็น 2 ชั้น กรอบชั้นใน ใจกลางของด้านที่ 1 จารึกบทมหาปัฎฐาน ขึ้นต้นว่า “เหตุปจฺจโย...” เป็นคัมภีร์ที่ 7 ที่สำคัญที่สุด เพราะแสดงสภาวธรรมที่เป็นเหตุตั้งต้น คือ ปัจจัย 24 ลักษณะ กรอบชั้นนอก จารึกบทธรรมสังคิณี ขึ้นต้นว่า “กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพฺยากตา ธมฺมา...” เป็นคัมภีร์ที่ 1 โดยแสดงเฉพาะบทมาติกาหรือหมวดธรรมแม่บทของพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ที่เป็นสภาวธรรมทั้งหลายในสากลจักรวาล ที่เป็นผลมาจากเหตุปัจจัยต่างๆ บทธรรมนี้จารึกล้อมรอบบทมหาปัฏฐาน ไปจนเต็มแผ่นจารึกด้านที่ 1 ต่อเนื่องไปจนเต็มแผ่นจารึกด้านที่ 2 มีนัยว่า บทมหาปัฏฐานเป็นเมล็ดเชื้อ บทธรรมสังคิณีเป็นดอกผล

          รูปแบบการบันทึกที่แสดงว่า สภาวธรรมหรือความสุขความทุกข์ทั้งหลายเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยต่างๆ เช่นนี้ อธิบายขยายความบทพระพุทธพจน์ “เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุ ํ ตถาคโต เตสญฺจโย นิโรโธจ เอวํ วาทีมหาสมโณ” แปลว่า “ธรรมทั้งหลายเหล่าใดเกิดจากเหตุ พระตถาคตเจ้าตรัสซึ่งเหตุของธรรมเหล่านั้น ซึ่งเหตุนั้นเป็นที่ดับของธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณเจ้ามีหลักคำสอนว่าอย่างนี้” โดยบทพระอภิธรรมในจารึกนี้ขยายความว่า “ธรรมหรือความทุกข์ทั้งหลายเกิดจากเหตุในลักษณะต่างๆมี 24 ลักษณะ

 

บรรณานุกรม

“จารึกพระอภิธรรม”. ใน ประชุมจารึก ภาคที่ 8 จารึกสุโขทัย. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2548, หน้า.319-374.

วรรณคดีบาลี. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2559.
พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาฯ พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคิณี. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539.

พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาฯ พระอภิธรรมปิฎก ปัฏฐาน ภาค 1. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539.

Tags

คัมภีร์           คัมภีร์ใบลาน           คัมภีร์ประถมจินดา           คาถาป้องกันอสนีบาต           ค่าวพระอภัยมณี           ช้าง           ตำราชกมวย           ตำราแผนคชลักษณ์           ตำราไม้ดัด           ตำราโหราศาสตร์           ทำนา           นครเมกกะ           น้ำฝนต้นข้าว           บัญชีเลก           ประกาศห้าม           ปลูกเรือน           ปัญญาบารมีหลวง           ผอม           พระไตรปิฎก           พระสมุดตำรา           พระอภิธรรม           ฟ้าผ่า           มวยไทย           มหามงคลนารี           ร้อยดอกไม้           ราชครู พระยา ราชา เสนา มนตรี           ศิลาจารึก           แส๊กอะลี           หนังสือสมุดไทย           หนังสือสมุดไทยขาว           ห้ามกล่าวทัก           อนุตตานทีปนี           อ้วน