วันนี้ขอเสนอเรื่อง "ตำราชกมวย" เรียบเรียงเนื้อหาโดย นางสาวยุวเรศ วุทธีรพล นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก เนื้อหามีดังนี้
“มวยไทย” กีฬาที่กำลังเป็นที่นิยมเรื่องอย่างแพร่หลาย ในโอกาสที่คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งชาติฝรั่งเศส อนุญาตให้สหพันธ์สมาคมมวยไทยนานาชาติ (IFMA) นำกีฬามวยไทยไปจัดการแข่งขันรูปแบบสาธิตที่โอลิมปิค 2024 “ปารีส 2024” ณ ประเทศฝรั่งเศส ในปีนี้ นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่เราจะได้ช่วยกันผลักดัน ให้ “มวยไทย” ได้บรรจุเป็นกีฬาแข่งขันในโอลิมปิค ฤดูร้อน ต่อไปในอนาคตตำราชกมวย เล่มนี้ สำนักหอสมุดแห่งชาติได้รับมอบจาก หม่อมเจ้าปิยภักดีนารถ เมื่อ พ.ศ.2464 เนื้อหาทั้งหมดเป็นภาพวาดลายเส้นแสดงท่าทางการชกมวยของนักมวยท่าละ 1 คู่ ไม่ระบุชื่อท่าทาง แต่มีข้อความเขียนกำกับตอนท้ายแต่ละท่า เช่น "ท่าแม่ไม้ที่ 1 ต่อด้วยท่าแก้แม่ไม้ท่าที่ 1 เรียงลำดับตามภาพไปจนถึง ท่าแม่ไม้ที่ 12 และ ท่าแก้แม่ไม้ที่ 9 จากนั้นจึงเป็นภาพลูกไม้ที่ 1 ต่อด้วยท่าแก้ลูกไม้ที่ 1 เรียงลำดับไปจนถึง ลูกไม้ที่ 12 และท่าแก้ลูกไม้ที่ 12 ยกเว้นลูกไม้ที่ 9-11 ไม่มีท่าแก้ รวมทั้งหมด 46 ท่า"ครูมวยจึงต้องตีความท่าทางในภาพที่ปรากฏ เพื่อให้สามารถระบุชื่อท่าได้รวมทั้งการอธิบายเป็นการเคลื่อนไหวของนักมวยขณะชก ทั้งนี้เคยมีการศึกษาโดยครูมวยสายท่าเสาและพระยาพิชัยดาบหัก ไว้ในหนังสือมวยไทยเดิม ผู้เรียบเรียงจึงขอยกตัวอย่างพอให้เป็นแนวทางดังนี้
แม่ไม้ที่ 5 องคตควงพระขรรค์ ท่าแก้ คือ รักแร้จับหรือหักแขน
แม่ไม้ที่ 8 คชสารกวาดหญ้า ท่าแก้ คือ ล่วงแดนเหรา
ลูกไม้ที่ 1 นาคาพ่นไฟกาฬ ท่าแก้ คือ ยอเขาพระสุเมรุ
ลูกไม้ที่ 7 พระพายล้มสิงขร ท่าแก้ คือ ประหารราชสีห์ เป็นต้น
ตำราชกมวย จึงเป็นขุมทรัพย์ของวิชามวยไทยที่ยังต้องมีการศึกษาวิเคราะห์และตีความกันต่อไปอย่างมีหลักเกณฑ์โดยครูมวยผู้มีความรู้ความชำนาญในแต่ละสายทั้งมวยโคราช มวยลพบุรี มวยไชยา และมวยไทยท่าเสา/พระยาพิชัยดาบหัก เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อวงการมวยไทยอย่างสูงสุด
บรรณนานุกรม
ตำราชกมวย. หอสมุดแห่งชาติ. หนังสือสมุดไทยดำ. อักษรไทย. ภาษาไทย. เส้นขาว. ม.ป.ป. เลขที่ 11.
หมวดตำราภาพ.
สมพร แสงชัย และคณะ. มวยไทยเดิม. กรุงเทพฯ: ทิพย์เนตร์การพิมพ์, 2557.