วันนี้ขอเสนอเรื่อง "ค่าวพระอภัยมณี" เรียบเรียงเนื้อหาโดย นางสาวยุวเรศ วุทธีรพล นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก เนื้อหามีดังนี้
นิทานคำกลอนเรื่อง พระอภัยมณี ของ สุนทรภู่ เป็นที่นิยมและรู้จักกันอย่างแพร่หลาย เรื่องราวประกอบไปด้วยการเดินทางผจญภัยมากมายหลายตอนทั้งทางบกและทางน้ำ มีสิ่งของวิเศษและสัตว์วิเศษ อ่านแล้วเกิดจินตนาการและสร้างความสนุกสนาน ไม่ว่าจะอยู่ในวัยเด็กหรือผู้ใหญ่ ความนิยมของนิทานคำกลอนเรื่อง พระอภัยมณี จากภาคกลางได้เดินทางไปสู่ผู้อ่านในภาคเหนือในเวลาต่อมา กล่าวกันว่า เจ้าแม่ทิพเกสร พระชายาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 มีพระประสงค์ให้ พระยาพรหมโวหาร กวีเอกที่มีชื่อเสียงในล้านนา แต่งค่าวซอ เรื่องพระอภัยมณีและศรีสุวัณณ์ ขึ้นราว พ.ศ. 2420 – 2425 ด้วยคำประพันธ์ประเภทค่าว ซึ่งเป็นคำประพันธ์ที่ชาวล้านนานิยมใช้ในการขับร้อง โดยใช้โครงเรื่องจากนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณี และใช้คำภาษาถิ่นร่วมกับคำภาษาไทยภาคกลางในการแต่งค่าว
ค่าวพระอภัยมณี ฉบับหอสมุดแห่งชาติ นี้เป็นคัมภีร์ใบลาน จารด้วยอักษรธรรมล้านนา ภาษาไทยล้านนา จำนวน 1 ผูก มี 120 หน้าลาน เลขที่ 1438/1 ไม่ระบุปีที่จารและชื่อผู้จาร สำหรับเนื้อหานั้น เริ่มเรื่องตั้งแต่ พระอภัยมณีและศรีสุวรรณเดินทางไปเรียนวิชาเป่าปี่และวิชากระบี่กระบองกลับมาจึงถูกพระบิดาขับออกจากเมือง จนถึง ศรีสุวรรณและสามพราหมณ์ตามหาพระอภัยมณีมาถึงเมืองรมจักร และศรีสุวรรณพบรักกับนางเกษรา (ค่าวพระอภัยมณี ฉบับสมบูรณ์ ของพระยาพรหมโวหาร เนื้อเรื่องจบที่
งานอภิเษกระหว่างศรีสุวรรณกับนางเกษรา)
แม้ว่าค่าวซอ เรื่องพระอภัยมณี ฉบับของหอสมุดแห่งชาติ จะมีเนื้อหาไม่ครบถ้วนตามต้นฉบับเดิมที่ พระยาพรหมโวหาร แต่งไว้ แต่ก็ทำให้ทราบว่า มีความนิยมและคัดลอกต่อมาโดยจารเป็นฉบับคัมภีร์ใบลาน เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติอีกฉบับหนึ่งด้วย
บรรณนานุกรม
ค่าวพระอภัยมณี. หอสมุดแห่งชาติ. คัมภีร์ใบลาน. อักษรธรรมล้านนา ภาษาไทยล้านนา. เส้นจาร.
ฉบับลานดิบ. ม.ป.ส. ม.ป.ป. เลขที่ 1438/1.
อุดม รุ่งเรืองศรี. การใช้ศัพท์ภาษาไทยกลางในคร่าวซอเรื่องพระอภัยมณี พระยาพรหมโวหาร. เชียงใหม่:
ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2528