รายละเอียดเกร็ดความรู้จากเอกสารโบราณ

ปัญญาบารมีหลวง
หมวดหมู่: เกร็ดความรู้จากเอกสารโบราณ เผยแพร่เมื่อ: 21 ต.ค. 2567โดย:นายนิเวศน์ ศรีวรรณะจำนวนผู้เข้าชม:21
เรียบเรียงโดย : นางสาวชญานุตม์ จินดารักษ์

วันนี้ขอเสนอเรื่อง "ปัญญาบารมีหลวง" ถ่ายถอดเนื้อหาโดย นางสาวชญานุตม์ จินดารักษ์ นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก เนื้อหามีดังนี้

คัมภีร์ใบลาน เรื่อง “ปัญญาบารมีหลวง” มีความโดดเด่นดังนี้

       (1) เป็นวรรณกรรมพุทธประวัติ เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญบารมี 30 ทัศ ตลอด 20 อสงไขยปลายแสนกัป จนเต็มบริบูรณ์ สำเร็จเป็นพระโคตมพุทธเจ้า และเป็นวรรณกรรมคำสอนที่มีเค้าเรื่องมาจากนิทานกถาและชาดกภาษาบาลี ในคัมภีร์ชาตกัฏฐกถา (อรรถกถานิบาตชาดก) ซึ่งรวบรวมและแต่งเติมโดยพระพุทธโฆสะ เมื่อพุทธศตวรรษที่ 9 และมีการลำดับเนื้อหาตามโครงเรื่องของคัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์ วรรณกรรมพุทธประวัติที่แต่งโดย พระรัตนปัญญาชาวล้านนา เมื่อพุทธศักราช 2026

       (2) ผู้แต่งได้คัดเลือกพุทธประวัติตอนสำคัญและนิทานชาดกเรื่องที่แสดงบารมี 10 ประการอย่างชัดเจน จากคัมภีร์ชาตกัฏฐกถา ภาษาบาลี ได้แก่ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยะบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และอุเบกขาบารมี มาเล่าใหม่ด้วยภาษาไทยอีสานสำนวนแปลร้อย เพื่อเล่าพุทธประวัติประกอบคำสอนอย่างสั้นกระชับ เข้าใจง่าย และสอดคล้องกับความเชื่อของท้องถิ่นอีสาน รวมนิทานพุทธประวัติและนิทานบารมี จำนวน 35 เรื่อง

     (3) มีประวัติการสร้างชัดเจน โดยคัมภีร์ใบลานฉบับนี้ มีเจ้าศรัทธา ชื่อ คุณทอง ให้สร้างถวายวัดไว้สืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ถึง 5,000 ปี และเพื่อให้อานิสงค์จากการสร้างส่งผลให้คุณทองและพ่อแม่ปู่ย่าตายายพี่น้อง ครูบาอาจารย์ได้พบพระศรีอาริยเมตไตรย และได้ถึงซึ่งพระนิพพาน ส่วนผู้จารไม่ระบุชื่อ แต่เป็นผู้ที่มีความรู้ทางภาษาบาลี เพราะเคยบวชเรียนมาตอนเยาว์วัย จึงแสดงความถ่อมตัวว่ามีความรู้น้อย และขอให้พระภิกษุสามเณรผู้นำคัมภีร์ไปศึกษาช่วยแก้ไขที่ผิดพลาดจากการจารด้วย โดยจารระหว่างเดือนเมษายน – เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2384 ดังนั้นอักษรและอักขรวิธีของอักษรธรรมอีสานที่ใช้บันทึกคัมภีร์นี้ จึงใช้เป็นแม่แบบในการศึกษาอักษรธรรมอีสาน สมัยรัชกาลที่ 3 ได้

 

บรรณานุกรม

“ปญฺญาปารมี.” หอสมุดแห่งชาติ. หนังสือใบลาน 6 ผูก. อักษรธรรมอีสาน. ภาษาบาลี – ไทย. เส้นจาร. ฉบับล่องรัก. พ.ศ.2384. เลขที่ 32/1-6.

กรมศิลปากร. วรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ เล่ม 4 (หมวดศาสนจักร) ชินกาลมาลีปกรณ์. กรุงเทพ ฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, 2539.

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่มที่ 27 ภาค 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2535.

_______ . พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่มที่ 28 ภาค 2. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2535.

_______ . สุตฺตนฺตปิฏเก มหาจุฬาอฏฺฐกถา ปรมตฺถทีปนิยา นาม ขุทฺทกนิกายฏฺฐกถาย จริยาปิฎกวณฺณา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์วิญญาณ, 2534.

Tags

คัมภีร์           คัมภีร์ใบลาน           คัมภีร์ประถมจินดา           คาถาป้องกันอสนีบาต           ค่าวพระอภัยมณี           ช้าง           ตำราชกมวย           ตำราแผนคชลักษณ์           ตำราไม้ดัด           ตำราโหราศาสตร์           ทำนา           นครเมกกะ           น้ำฝนต้นข้าว           บัญชีเลก           ประกาศห้าม           ปลูกเรือน           ปัญญาบารมีหลวง           ผอม           พระไตรปิฎก           พระสมุดตำรา           พระอภิธรรม           ฟ้าผ่า           มวยไทย           มหามงคลนารี           ร้อยดอกไม้           ราชครู พระยา ราชา เสนา มนตรี           ศิลาจารึก           แส๊กอะลี           หนังสือสมุดไทย           หนังสือสมุดไทยขาว           ห้ามกล่าวทัก           อนุตตานทีปนี           อ้วน