ถ้าจะกล่าวถึงตำราไม้ดัดที่มักจะใช้อ้างถึงกันในหมู่ผู้เล่นไม้ดัดนั้น จะต้องปรากฎชื่อโคลงตำราไม้ดัดของหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) อยู่ด้วยเสมอ และยังเป็นตำราไม้ดัดเล่มแรก แม้ภายหลังมีการพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับเรื่องไม้ดัด แต่ก็มักนำโคลงตำราของหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) มาใช้ประกอบด้วยเสมอ ดังนั้นจึงจะนำเสนอโคลงตำราไม้ดัดมาให้ได้ชมกัน
โคลงตำราไม้ดัดคำโคลงของขุนท่องสื่อ (มีภาพต้นไม้ดัดระบายสี) เป็นหนังสือสมุดไทยขาว เลขที่ ๒๓ อยู่ในหมวดตำราเบ็ดเตล็ด บันทึกบนสมุดไทยขาวด้วยเส้นรงค์ (ดินสอ,หมึก,น้ำยา) อักษรไทย ภาษาไทย มีภาพวาดไม้ดัด ๒๔ ภาพ ผู้ที่แต่งตำราไม้ดัดคำโคลงเล่มนี้ คือ ขุนท่องสื่อ (เสมียนตรากรมท่าซ้าย) เป็นตำแหน่งนี้จีนล่ามนายอำเภอสังกัดกรมเจ้าท่ากรมเจ้าท่า ซึ่งเป็นตำแหน่งเดิมตอนเริ่มรับราชการของหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงมงคลรัตนราชมนตรี และเลื่อนขึ้นเป็นพระมงคลรัตนราชมนตรี กรมสรรพากรใน ปรากฏในสำเนาสัญญาบัตร การแต่งตั้งขุนนางไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ เรื่องตั้งขุนนาง ปีมโรงสัมฤทธิศก ท่านได้เรียนวิชาทำไม้ดัดจากพระด้วงหรือนายด้วง ซึ่งเคยรับราชการในกรมมหาดเล็ก เป็นข้าราชการในกรมสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีที่ทรงใช้สอยในเรื่องต้นไม้ดัด
บรรณานุกรม
กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร. การแต่งตั้งขุนนางไทย สมัยรัชกาลที่ ๕. กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์การ
ศาสนา,๒๕๒๑.
“โคลงตำราไม้ดัดคำโคลงของขุนทองสื่อ (มีภาพต้นไม้ดัดระบายสี).” หอสมุดแห่งชาติ. หนังสือสมุดไทยขาว.
อักษรไทย. ภาษาไทย. เส้นรงค์ (ดินสอ,หมึก,สีน้ำยา). ม.ป.ป. เลขที่ ๒๓. ๒๗ หน้า. หมวดตำราเบ็ดเตล็ด.
สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. โคลงตำราไม้ดัด และทารกาภิบาล ของหลวงมงคลรัตน์
(ช่วง ไกรฤกษ์). กรุงเทพฯ:ศิริชัยการพิมพ์,๒๕๖๑.