เรียบเรียงโดย : นางศิวพร เฉลิมศรี
กระดาษเพลา คือ กระดาษที่ทำจากเปลือกไม้ชนิดต่างๆ เหมือนอย่างทำหนังสือสมุดไทย แต่ทำเป็นแผ่นบางๆเรียกว่า “กระดาษเพลา” ทำขึ้นเพื่อใช้ในรูปแบบหนังสือราชการ (จดหมายราชการ) มีไปมาระหว่างกรุงเทพฯ ถึงหัวเมือง หรือจากหัวเมือง ถึงกรุงเทพฯ ทำเป็นใบบอกบ้าง ใบฎีกา และอื่นๆ บ้าง นิยมเขียนด้วยดินสอ ไม่นิยมเขียนด้วยหมึกเพราะกระดาษมีความบางหมึกจะซึม ทำให้อ่านตัวอักษรไม่ชัด มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวบ้างสั้นบ้างแล้วแต่เรื่อง อย่างเช่นกระดาษเพลาที่จะนำมาให้ชมกันในวันนี้ มี ๒ รายการ เป็นหนังสือราชการในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่ รัชกาลที่ ๓
รายการที่ ๑ กระดาษเพลาเรื่อง ใบบอกพระสรรค์บุรี เลขที่ ๖ เนื้อความเป็นการบอกส่งรายงานน้ำฝนต้นข้าวจากเมืองสรรคบุรี ลงมากรุงเทพฯ เมื่อ จ.ศ.๑๑๙๓ (พ.ศ. ๒๓๗๔)
ส่วนรายการที่ ๒ กระดาษเพลาเรื่อง ใบบอกพระสุนทรราชวงศา เมืองยโสธร เนื้อความเป็นการบอกส่งขี้ผึ้ง และรายงานน้ำฝนต้นข้าวจากเมืองยโสธร มายังกรุงเทพฯ เมื่อ จ.ศ.๑๑๙๓ (พ.ศ. ๒๓๗๔) เพราะฝนถือเป็นปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการกสิกรรม ว่าพื้นที่ใดจะอุดมสมบูรณ์ หรือทำการเพาะปลูกได้ดี และการรายงานปริมาณน้ำฝนของแต่ละหัวเมือง เป็นการรายงานให้กับส่วนกลางได้ทราบว่าแต่ละหัวเมืองมีปริมาณน้ำฝนที่ใช้ในการเพาะปลูกมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะส่งผลต่อการเก็บผลผลิตเป็นส่วยที่ต้องนำส่งให้แก่รัฐ
บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. “คู่มือปฏิบัติงานเกี่ยวกับเอกสารโบราณ.” กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์ บริษัททรงสิทธิวรรณ จำกัด, ๒๕๔๘.
“ใบบอกพระสรรค์บุรี.” หอสมุดแห่งชาติ. กระดาษเพลา. อักษรไทย. ภาษาไทย. เส้นดินสอ. จ.ศ.๑๑๙๓. เลขที่ ๖. หมวดจดหมายเหตุ ร.๓.
“ใบบอกพระสุนทรราขชวงศา เมืองยโสธร.” หอสมุดแห่งชาติ. กระดาษเพลา. อักษรไทย. ภาษาไทย.
เส้นดินสอ. จ.ศ.๑๑๙๓. เลขที่ ๗. หมวดจดหมายเหตุ ร.๓.