เรียบเรียงโดย : นางสาวยุวเรศ วุทธีรพล
คัมภีร์ประถมจินดา เป็นคัมภีร์แพทย์แผนไทยที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับแม่และเด็ก กล่าวถึงการปฏิสนธิ พัฒนาการของทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ การดูแลหญิงตั้งครรภ์ อาการต่างๆ และความผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์(แท้งบุตร) การดูแลแม่และทารกหลังคลอด ลักษณะน้ำนมแม่ที่ดี โดยเฉพาะการเจ็บป่วยของทารกนั้น มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เสียชีวิต ต้องได้รับการดูแลอย่างดีที่สุดจนกว่าจะพ้น ๑๒ เดือนหรือ ๑ ปี ไปแล้ว
ตอนหนึ่งในคัมภีร์ประถมจินดาได้กล่าวถึงทารกในครรภ์ไว้ดังนี้ “...เมื่อครรภ์ได้ ๕ เดือน จึงมีจิตรแลเบญจขันธ์...คือที่อยู่ของมารดานั้นลำบาก ทนทุกขเวทนาดุจดังสัตว์ในนรก คือนั่งยองกอดเข่า เอามือกำใส่ใต้คาง ผินหน้าเข้าสู่กระดูกสันหลังของมารดา ผินหลังออกข้างนาภีก็มีอุปมาดุจดังลูกวานรนั่งอยู่ในโพรงไม้นั้น นั่งทับเภาะอาหารเก่า อันอาหารใหม่นั้นตั้งอยู่บนศีรษะและน้ำอาหารนั้นก็เตราะทราบลงไปทางกระหม่อม เพราะว่าทารกอยู่ในครรภ์นั้นกระหม่อมเปิด ครั้นมารดาบริโภคสิ่งอันใดที่ควรเข้าไปได้แล้ว ก็ซึมซาบออกจากเภาะเข้าก็เลื่อนลงไปในกระหม่อม ก็ได้รับประทานอาหารแห่งมารดา ก็ชุ่มชื่นชูกำลังเป็นปรกติ ถ้ามารดามิได้บริโภคอาหารแลรสอาหารมิได้ทราบลงไป ทารกนั้นก็มิได้รับรสอาหาร จึงทุรนทุรายกระวนกระวายระส่ำระสาย ดิ้นรนต่างๆ...”
จะเห็นว่า คัมภีร์ประถมจินดา มีความละเอียดลึกซึ้ง ในการพรรณนาให้เห็นภาพทารกน้อยที่อยู่ภายในครรภ์ของมารดา ได้รับอาหารจากมารดาและมีความรู้สึกตอบสนองต่อสิ่งเร้า คือ ความหิว จนต้องขยับร่างกายน้อยๆ นั้น เพื่อให้มารดารู้สึกและสัมผัสได้
บรรณานุกรม
คัมภีร์ประถมจินดา. หอสมุดแห่งชาติ. หนังสือสมุดไทยดำ. อักษรไทย-บาลี. ภาษาไทย-บาลี. เส้นรงค์ (ดินสอ, ทอง, หรดาล). พ.ศ. ๒๔๑๓. เลขที่ ๑๐๐๙. หมวดตำราเวชศาสตร์.