เนื้อหาโดยสังเขปเริ่มด้วย “ผู้สร้างกล่าวนมัสการและสรรเสริญคุณพระศรีรัตนตรัย แล้วขอให้สาธุชนจงฟังเรื่องมหาทานที่ตนจะเล่าว่า ขุนอู...ว เจ้าเมืองตรอกสลอบ และแซงุน เป็นขุนที่ฝักใฝ่ในธรรม ได้ชวนลูกเจ้าลูกขุนมูลนาย ไพร่ไท ทั้งชาวแม่ชาวเจ้าทั้งหลาย ทำมหาทานสร้างพระพิมพ์ดีบุกและดินเผา ๑๑,๑๐๘ องค์ ประดิษฐานพระธาตุ พระงา (ในพระเจดีย์ที่สร้างไว้ก่อนแล้ว) สร้างศาลา และถวายข้าวของ สัตว์เลี้ยง และข้าพระไว้เป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา (ที่ศาสนสถานนี้)”
จารึกนี้ทำขึ้นใน พ.ศ.๑๘๘๒ ห่างจากจารึกลายสือไทยของพ่อขุนรามคำแหงที่ทรงประดิษฐ์ขึ้นเมื่อพ.ศ.๑๘๓๕ เพียง ๔๗ ปี นับเป็นจารึกลายสือไทยที่เก่าเป็นอันดับสอง ความโดดเด่นของจารึกนี้ เช่น
(๑) การเขียนภาษาบาลีด้วยอักขรวิธีลายสือไทยเป็นครั้งแรก ปรากฏในคำกล่าวนมัสการฯ ที่ว่า “วนนเท ตมนุชงง ส... มหนนตงง รดดนดด(ยํ) (ปว)กกขามิ มหาทานงง สุนาถ (สาธ)โว” อ่านตามภาษาบาลีว่า “วนฺเท ตมนุชํ ส... มหนฺตํ รตฺตนตฺตยํ ปวกฺขามิ มหาทานํ สุนาถ สาธโว”
(๒) การเขียนลายสือไทยโดยใช้สระรายล้อมพยัญชนะไม่เขียนในระดับเดียวกับพยัญชนะอย่างอักขรวิธีลายสือไทย เช่น ในข้อความว่า “...ขุนผู้ใจดีชวนลูกเจ้า...”
(๓) การใช้ไม้เอกกำกับให้อ่านแยกพยางค์และคงจะให้ออกเสียงต่ำอย่างปัจจุบัน ในคำว่า “ก่” จากข้อความว่า “...แตก่หินแลง..“ อ่านว่า “แต่ก่อหินแลง”
บรรณานุกรม
“ศิลาจารึกวัดบางสนุก พร.๑ ภาษาบาลี-ไทย อักษรไทยสุโขทัย พุทธศักราช ๑๘๘๒” จัดแสดง
ณ กลุ่มหนังสือเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ
ประชุมจารึก ภาคที่ ๘ จารึกสุโขทัย. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๔๘. หน้า ๕๒ – ๕๕.
Prasert Ṇa Nagara and A.B.Griswold. Epigraphic and Historical Studies. Bangkok: Roongsaeng Karnpim, 1992. p.768 – 772.