เทวดาโพธิบาท หมายถึง เทวดาผู้รักษาทิศทั้ง ๘ เทวดา ตามคติพราหมณ์-ฮินดู เทพผู้รักษาทิศทั้ง ๘ นี้ นอกจากจะดูแลรักษาแล้วยังบันดาลให้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผิดธรรมดาทั่วไป หรือที่เรียกว่าอุบาทว์ เทวดาโพธิบาทที่ปรากฎในหนังสือสมุดไทยดำ เลขที่ ๖๙ เรื่อง พระเทวรูป ซึ่งหม่อมไพชยนต์เทพ (ม.ร.ว.พิณ) ถวายให้เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๕๔ มี ๘ องค์ประจำทิศต่าง ๆ ดังนี้
๑. พระอินทร์ เทวดาผู้รักษาทิศตะวันออก มีสายฟ้าหรือวัชระเป็นอาวุธ นอกจากนี้ยังมีอาวุธ คือ ธนู ร่างแห และพระขรรค์ มีพาหนะ ๓ ชนิด คือ รถทองเทียมด้วยม้าสีแดง ม้าทรงสีขาว และช้างทรงชื่อเอราวัณ
๒. พระเพลิง เทวดาผู้รักษาทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีกายเป็นสีทอง มีพาหนะคือระมาด มีขวาน โตมร ศร และสามง่ามเป็นอาวุธ
๓. พระยม เทวดาผู้รักษาทิศใต้ มีพักตร์ดุร้าย สีกายเหมือนสีพระอาทิตย์แรกขึ้น มีอาวุธเป็นคทาขนาดใหญ่ และบ่วงเรียกว่ายมบาศ มีบริวารมากมาย เช่น สุนัข ๒ ตัว นกเค้า นกแสกและนกแร้ง
๔. พระนารายณ์ เทวดาผู้รักษาทิศตะวันตกเฉียงใต้ พระนารายณ์มีอาวุธประจำกาย ๕ อย่าง คือ สังข์ จักร คทา ธนู และ พระขรรค์ มีครุฑเป็นพาหนะ
๕. พระพิรุณ เทวดาผู้รักษาทิศตะวันตก มีพญานาคเป็นพาหนะ
๖. พระพาย เทวดาผู้รักษาทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีผิวกายขาว มี ๔ กร ถือลูกศรและธง บ้างว่าถือเขนง แตร พระขรรค์ หรือวาลวิชนี มีม้าเป็นพาหนะ
๗. พระโสมหรือพระจันทร์ เทวดาผู้รักษาทิศเหนือ มีรัศมีกายสีขาว มักถือดอกบัวหรือคทา มีพาหนะเป็นม้าสีขาว
๘. พระไพสพ เทวดาผู้รักษาทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หรือท้าวกุเวรผู้เป็นผู้รักษาทรัพย์ในแผ่นดิน มีพาหนะเป็นหงส์
หนังสือสมุดไทยพระเทวรูปนี้ ศิลปินได้เขียนภาพลายเส้นของเทพและพาหนะมีท่วงท่าดูผงาด สง่างาม และเผ่นโผนด้วยพละกำลัง เป็นตำราภาพเทวรูปที่งดงามและมีคุณค่าต่อการศึกษามากเล่มหนึ่ง
บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. ตำราเทวรูปและเทวดานพเคราะห์. กรุงเทพฯ:ไอเดียสแควร์, ๒๕๓๕.
“พระเทวรูป.” หอสมุดแห่งชาติ. หนังสือสมุดไทยดำ. อักษรไทย. ภาษาไทย. เส้นขาว. ม.ป.ป. เลขที่ ๖๙. หมวดตำราภาพ.
ส.พลายน้อย. เทวนิยาย. กรุงเทพฯ:บัณฑิตการพิมพ์, ๒๕๑๙.