รายการ “จรดจดจาร” เป็นการนำเนื้อหาที่น่าสนใจจากเอกสารโบราณ หอสมุดแห่งชาติ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก มาถ่ายถอดเนื้อหาให้ทุกท่านได้อ่านพร้อมภาพประกอบจากเอกสารต้นฉบับที่หาดูได้ยาก โดยนำเสนอให้ท่านได้อ่านเป็นประจำทุกวันอังคาร วันนี้เสนอเรื่อง "ดวงชะตา นางพญาช้างเผือก พระเทพกุญชร" ถ่ายถอดเนื้อหาโดยนางสาวยุวเรศ วุทธีรพล นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก เนื้อหามีดังนี้
ช้างในราชสำนัก ที่เราเรียกว่า ช้างต้น ช้างเผือก หรือ ช้างสำคัญ นั้น กรมพระคชบาลมีตำราคชศาสตร์ที่สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา การคัดเลือกคุณสมบัติของช้างตามตำราอย่างมีระเบียบแบบแผน การมีช้างเผือกสมโภชขึ้นระวางเป็นช้างสำคัญประจำรัชกาลนั้น ย่อมแสดงความเป็นมงคลอย่างยิ่ง ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีช้างสมโภชขึ้นระวางทั้งหมด 10 ช้าง “พระเทพกุญชรฯ” นับเป็นช้างพังเผือกเอก (นางพญาช้างเผือกเอก) ลูกเถื่อน คล้องได้ที่เมืองภูเขียว พระยานครราชสีมา น้อมเกล้าฯ ถวาย ขึ้นระวางสมโภช ณ วันศุกร์ เดือนยี่ แรม 5 ค่ำ ปีระกา จุลศักราช 1163 (พ.ศ. 2344) ขนาดสูง 4 ศอก 1 คืบ 6 นิ้ว จักษุ เล็บ ขนตัว ขนหาง และลักษณะทั้งปวง ขาวบริสุทธิ์ ตรงกับคชลักษณ์ เสวตรภรณ์ เผือกเอก ตระกูลอัคนิพงศ์ ได้รับการผูกดวงชะตาสำหรับช้างที่จะได้เข้าพิธีสมโภชขึ้นระวาง โดย สมเด็จพระพนรัต วัดพระเชตุพน มีบันทึกดวงชะตา “พระเทพกุญชรฯ” ไว้ จึงนำมาถอดความให้ผู้อ่านได้ทราบและผู้ที่สนใจทางด้านโหราศาสตร์จะได้ศึกษากันต่อไปดังนี้
“๏ วัน อาทิตย์ เดือน 5 แรม 4 ค่ำ เพลา 2 โมงเช้า จุลศักราช 1164 ปีจอ จัตวาศก ได้ฤกษ์ 16 นาที 35 ดิฐี 3 นาทีดิฐี 28 มงคลรูป 55 มงคลโฉม 66 ทฤงฆายุศมสวัสดิ ๚ะ๛”
“๏ อาตมภาพ พระพนรัตน์ ควรชะตานางพญา ผู้จับได้บอกว่า เมื่อได้นั้น ณ วัน ศุกร์ เดือน 8 ขึ้น ๒ ค่ำ ประถมสารท เพลาในเที่ยง ประมาณ สามโมงเศษ ปีระกาตรีศก ขึ่งควรชะตาลักขณาตกในราศีกรกฏ พระอังคาร พระพฤหัสบดี พระเสาร์ กุมลักษณ์ พระอาทิตย์ พระศุกร์ เป็น 11 พระจันทร์ พระพุธ เป็น 12 แก่ลักขณาเป็นมงคลอันประเสริฐ ได้ฤกษ์จะขนานพระนามในวันอาทิตย์ เดือน 2 แรม 6 ค่ำ เพลาเช้า 5 โมง 4 บาท ได้ฤกษ์ 12 ชื่อ พิไชยสิทธิมหามงคลฤกษ์ ลักขณาสถิตยอยู่ ณ ราศีเมษ พระอาทิตย์ พระพุธ เป็นเกณฑ์ พระพฤหัสบดี พระเสาร์ ร่วมธาตุ ได้โยค ได้เกณฑ์ เป็นศิริมงคลอันประเสริฐ ให้มีพิณพาทย์ฆ้องไชยแตรสังข์ ให้ตั้งบายศรีซ้ายขวา แลเช่าพ่อพราหมณ์รดน้ำได้ฤกษ์แล้ว ให้จารึกพระนามลงให้ทันฤกษ์ดี ตามอย่างราชพิธีแต่ก่อน ขอถวายพระพร ๚ะ๛ ”
“๏ วันอาทิตย์ เดือน 2 แรม 6 ค่ำ จุลศักราช 1163 ปีระกา ตรีนิศก เพลาเช้า 5 โมง 4 บาท ได้พระฤกษ์ สมเด็จพระบรมนาถบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไป ณ โรงนางพญาเผือกท้องสนามนอกหน้าจักรวรรดิ ครั้นได้พระฤกษ์ มีพระราชบริหารดำรัสสั่งให้หลวงสิทธิไชยพราหมณ์หมอเฒ่า เขียนยันต์ด้วยดินสอดำลงท่อนอ้อยท่อน 1 เขียนพระเวทลงท่อนอ้อยท่อน 1 เขียนนามนางพญาด้วยดินสอดำลงท่อนอ้อยท่อน 1 พร้อมไปด้วยปี่พาทย์ ฆ้องไชย แตรสังข์ ประโคม นามปรากฏว่า “พระเทพกุญชร บวรศรีเสวก เอกชาติฉัตทันต์ อนันตคุณ วิบุลยเลิศฟ้า ๚” แล้วดำรัสสั่งให้หลวงสิทธิไชยพราหมณ์หมอเฒ่า แลพระครูพราหมณ์พิธี อวยพิพัฆศรีสวัสดิมงคล ท่อนอ้อยทั้ง 3 ท่อน ให้พระเทพกุญชร รับพระราชทาน ทฤงฆายุสมสวัสดิ ๚ะ๛”
“พระเทพกุญชรฯ” ยืนโรงอยู่โรงช้างในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาจนถึงรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พ.ศ. 2355 พระราชทานนามใหม่ว่า “พระเทพกุญชร บวรศรีเศวต อมรเมศนฤมิตร เผือกผ่องพิศโสภา มิ่งมงคลานาเคนทร์ คชคเชนทร์เฉลิมขวัญ ชาติฉัททันต์สูงศักดิ์ วิไลลักษณ์เลิศฟ้า ๚”
“พระเทพกุญชรฯ” ได้มีโอกาสแต่งเครื่องคชาภรณ์กุดั่น ร่วมออกรับราชทูตจากสหรัฐอเมริกา คือ นายเอ็ดมันด์ โรเบิร์ตส์ เมื่อ พ.ศ. 2376 ก่อนจะล้มลงในสมัยรัชกาลที่ 3 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการหล่อช้างเผือกในสมัยรัตนโกสินทร์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระมหามณีรัตนปฏิมากร รูปหล่อ “พระเทพกุญชรฯ” เป็นหนึ่งในจำนวน 19 ช้าง ที่ประดิษฐานอยู่บริเวณชานชาลาด้านหลังปราสาทพระเทพบิดร
บรรณานุกรม
ดวงชะตาพระเทพกุญชร. หอสมุดแห่งชาติ. หนังสือสมุดไทยดำ. อักษรไทย. ภาษาไทย. เส้นหรดาล. จ.ศ. 1164 (พ.ศ. 2345). เลขที่ 206. หมวดตำราโหราศาสตร์.
ณัฏฐภัทร จันทวิช, บรรณาธิการ. ช้างต้นสัตว์มงคลแห่งพระจักรพรรดิ เล่ม 1-2. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากรร่วมกับบริษัทคาร์ลสเบอร์ก บริเวอรี่ (ประเทศไทย), 2539.