รายการ “จรดจดจาร” เป็นการนำเนื้อหาที่น่าสนใจจากเอกสารโบราณ หอสมุดแห่งชาติ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก มาถ่ายถอดเนื้อหาให้ทุกท่านได้อ่านพร้อมภาพประกอบจากเอกสารต้นฉบับที่หาดูได้ยาก โดยนำเสนอให้ท่านได้อ่านเป็นประจำทุกวันอังคาร วันนี้เสนอเรื่อง "เครื่องราชูปโภคในเรือพระที่นั่ง" ถ่ายถอดเนื้อหาโดยนางสาวยุวเรศ วุทธีรพล นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก เนื้อหามีดังนี้
ประเทศไทยเป็นเมืองแห่งแม่น้ำลำคลอง ในอดีตเราตั้งบ้านเรือนชุมชนอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำลำคลองสายต่าง ๆ และอาศัยใช้เป็นเส้นทางสัญจร เรือเป็นพาหนะหลักในการสัญจรทางน้ำ สิ่งที่ชาวต่างชาติจดจำและกล่าวถึง รวมทั้งมีการบันทึกเป็นภาพวาดไว้ด้วยเมื่อเข้ามาเยือนแผ่นดินสยามตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา คือ กระบวนเรือพระที่นั่งของพระมหากษัตริย์ในการเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค กระบวนเรือที่ประกอบด้วยเรือจำนวนมากมายเต็มท้องน้ำ อีกทั้งแต่ละลำยังมีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ แม้ในปัจจุบันประเทศไทยยังคงรักษาสืบทอดราชประเพณีนี้ไว้ ดังที่เราได้ร่วมชื่นชมกันมาแล้วในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร ปีนี้
ในอดีต การเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคอาจใช้เวลามากกว่า 1 วัน และอาจต้องประทับแรมระหว่างทางเสด็จฯ ภายในเรือพระที่นั่ง มหาดเล็กจะต้องตระเตรียมสิ่งใดบ้างนั้น มีบันทึกไว้ในหนังสือสมุดไทย หมวดจดหมายเหตุ ร.2 เรื่อง ทำเนียบข้าราชการกรมมหาดเล็ก ซึ่งเนื้อหานอกจากจะระบุรายชื่อมหาดเล็กรับใช้ใกล้ชิดแล้ว ยังบอกธรรมเนียมปฏิบัติและเครื่องราชูปโภคต่าง ๆ อีกด้วย
สำหรับ เครื่องราชูปโภค ที่มหาดเล็กต้องจัดเตรียมลงเรือพระที่นั่ง มีสองส่วน คือ ส่วนที่อยู่ด้านหน้าเรือพระที่นั่ง มีกำหนดไว้ว่า
“เครื่องหน้าเรือพระที่นั่ง ทรงชโลม สรงพระพักตร์ พระเต้า พระสุธารสเสวย พระล่วม มีผ้าเช็ดพระโอษฐ์ ผ้าเช็ดพระหัตถ์ พระสุพรรณศรี พระสุพรรณราช พานทองใส่นาฬิกาฝรั่งประดับเพชร พระกล้องทรงพระโอสถ พานพระตลับใส่พระโอสถแดง เชิงเทียนข้างที่ คีมคีบเทียน ฉลองพระบาท ราวพระแสงดาบ พระแสงกระสุน ถุงกำมะหยี่ใส่ลูกกระสุน พานทองใส่ทรงดม เทียนทรงสูบพระโอสถ พระหีบจีนปรุใส่ธูปกระแจะทอดข้างที่ หีบกระดาษใส่ธูปกระแจะ พานพระชุด หม้อลงพระบังคน พระแส้จามรี พัชนี พระกล้องส่อง ถาดทองวางพระเข็มฝรั่ง พระเต้าทักษิโณทก หางว่าวเรือนำ หางว่าวเรือตาม หางว่าวระยะทาง ถุงพระแสงดาบ ผ้าสีผึ้ง พระปิ่นโตใหญ่ พระปิ่นโตน้อย พระสมุดเปล่า กระดาษไทย ดินสอพอง ดินสอดำ ดินสอหิน หม้อพระสุธารสเสวย พระขันใส่ผ้าซับพระองค์ ถ้าเสด็จไปวัด เชิญเครื่องนมัสการไปด้วย ถ้าเสด็จประทานเพลิง เชิญเครื่องสมาไปด้วย เชิญหน้าเพลิงไปด้วย”
และส่วนที่อยู่ท้ายเรือพระที่นั่ง มีกำหนดไว้ว่า
“เครื่องท้ายเรือพระที่นั่ง ถาดพระสุธารสชา กาพระสุธารสร้อน พานชุบสรงจับสรง ขันสรงสนาน พานผ้าสีพระองค์ พานเครื่องลงพระบังคน ไม้นิ้วงา พระกระสุนชาวแสง ถุงผ้าแดงใส่ลูกกระสุน ถาดเงินใส่เงินบาท 1 ชั่ง เงินปลีก 10 ตำลึง (รวม) 1 ชั่ง 10 ตำลึง ถุงหนังใส่พาน พระชุดขด คีมคีบถ่าน ถุงเหล็กไฟมีปุย ถุงเหล็กไฟมีอังแพลม พระกระดานหมากรุก พระกระดานหมากสกา กระชอนกรองพระสุธารส ตราประจำเล็บ มะกรูด กาพระชำระ พระสุพรรณราชทองขาว พระสุพรรณศรีทองขาว พานผ้าเช็ดพระโอษฐ์ พานผ้าเช็ดพระหัตถ์ หม้อพระสุธารสเงิน พระกระดานชนวน ไม้ธารพระกร พัดขนนก ผ้าสีผึ้ง โคมแก้ว เทียนสำหรับโคม โถเครื่องอบ อัดเต๋าสุม สนับพระหัตถ์สีพระองค์ พระถ้ำแก้วใส่ใบชา”
บรรณานุกรม
ทำเนียบข้าราชการกรมมหาดเล็ก. หอสมุดแห่งชาติ. หนังสือสมุดไทยดำ. อักษรไทย. ภาษาไทย. เส้นหรดาล. จ.ศ.1174 (พ.ศ. 2355). เลขที่ 1. หมวดจดหมายเหตุ ร.2.
กรมศิลปากร. เรือพระราชพิธี. กรุงเทพฯ: บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด, 2557.