รายการ “จรดจดจาร” ซึ่งเป็นการนำเนื้อหาที่น่าสนใจจากเอกสารโบราณ หอสมุดแห่งชาติ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก มาถ่ายถอดเนื้อหาให้ทุกท่านได้อ่านพร้อมภาพประกอบจากเอกสารต้นฉบับที่หาดูได้ยาก โดยนำเสนอให้ท่านได้อ่านเป็นประจำทุกวันอังคาร วันนี้ขอเสนอเรื่อง "ศิลาจารึกเสาแปดเหลี่ยม" ถ่ายถอดเนื้อหาโดย นางสาวชญานุตม์ จินดารักษ์ นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก เนื้อหามีดังนี้
(1) ลักษณะการจารึก คือ จารึกอักษรบนเสาหินชนวนแปดเหลี่ยมครบทั้ง 8 ด้าน โดยใช้แนวสันเหลี่ยมแบ่งเนื้อหาเป็น 4 ตอน บางตอนใช้เครื่องหมายเริ่มต้น เว้นวรรค และจบข้อความกำกับแบ่งแยกเนื้อหาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น ใช้เครื่องหมายเว้นวรรคคั่นชื่อข้าพระ สัตว์ สิ่งของที่ถวาย โดยชื่อข้าพระจะปรากฏตามหลังข้อความว่า “เฑก์ มุน์ ชุน์ ต กฺยาก์” แปลว่า “ผู้รับใช้ ซึ่ง ถวาย ต่อ พระ”
(2) การใช้พยัญชนะ “บ” คือรูปพยัญชนะ “พ” ที่มีจุดตรงกลาง ที่ไม่มีในระบบการเขียนของอักษรปัลลวะ ในชื่อเฉพาะภาษามอญโบราณว่า “กฺบะ” (อ่านว่า กะบ๊ะห์)
(3) รูปแบบลวดลายที่บัวหัวเสาและส่วนบนของเสาศิลาจารึกเป็นลวดลายในศิลปะทวารวดี คือ บัวหัวเสาที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมทั้ง 4 ด้าน จำหลักรูปดอกไม้กลมกับใบไม้ออกกนก และส่วนบนของเสาโดยรอบ จำหลักรูปพวงมาลัยและพวงอุบะ ลวดลายเหล่านี้คล้ายเสาแปดเหลี่ยมซึ่งค้นพบที่พระปฐมเจดีย์ และเมืองอู่ทอง ดังนั้นศิลาจารึกหลักนี้จึงเป็นหลักฐานแสดงว่า ชนชาติมอญในอาณาจักรทวารวดีที่อยู่แถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้เคลื่อนย้ายขึ้นสู่ลุ่มน้ำป่าสัก
(4) รูปอักษรหลังปัลลวะในจารึกหลักนี้ สอดคล้องกับรูปอักษรในจารึกใบเสมาเมืองฟ้าแดดสูงยาง จารึกภาษามอญโบราณชิ้นเดียว ที่ปรากฏตัวเลข คือ 693 หมายถึง มหาศักราช 693 ซึ่งตรงกับ พ.ศ.1314 (เอียน วัตสัน, 2556: 24)
บรรณานุกรม
“ศิลาจารึกเสาแปดเหลี่ยม ลบ.1 ภาษามอญโบราณ อักษรหลังปัลลวะ ราวพุทธศักราช 1314” จัดแสดง ณ กลุ่มหนังสือเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ
จารึกในประเทศไทย เล่ม 2 อักษรปัลลวะ อักษรหลังปัลลวะ อักษรมอญโบราณ พุทธศตวรรษที่ 12-21. พิมพ์ครั้งที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพฯ: หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2559. หน้า 62-69.
เชษฐ์ ติงสัญชลี. ลวดลายในศิลปะทวารวดี: การศึกษาที่มาและการตรวจสอบกับศิลปะอินเดียสมัยคุปตะวกาฏกะ. กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2565.
ฮันเตอร์ เอียน วัตสัน. การศึกษารูปคำภาษามอญโบราณจากจารึกที่พบในประเทศไทยระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-17. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556.