วันนี้เสนอเรื่อง "ศิลาจารึกแม่หินบดยา คาถาเย ธมฺมาฯ" ถ่ายถอดเนื้อหาโดยนางสาวชญานุตม์ จินดารักษ์ นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก เนื้อหามีดังนี้
จารึกเรื่อง “ศิลาจารึกแม่หินบดยา คาถาเย ธมฺมาฯ” นี้มีความโดดเด่น คือ (1) เป็นคาถาหัวใจพระพุทธศาสนาเพราะเป็นบทสรุปคำสอนเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท (กฎของเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดทุกข์และการดับทุกข์ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ได้) และครอบคลุมเนื้อหาของอริยสัจ 4 โดยคาถานี้แปลว่า “ธรรมเหล่าใดมีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตตรัสแสดงเหตุ และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้” โดยพระอัสสชิเถระผู้เป็นหนึ่งในปัญจวัคคีย์ได้กล่าวคาถานี้เพื่ออธิบายคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างย่อให้พระอุปติสสะหรือพระสารีบุตรฟังจนบรรลุพระโสดาบัน
(2) จารึกด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาบาลี จึงเป็นหลักฐานการเผยแผ่คำสอนในพระพุทธศาสนาจากอินเดียสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ตามพระราชปณิธานของพระเจ้าอโศกมหาราช ที่บันทึกไว้ในคัมภีร์มหาวงศ์
(3) วัตถุรองรับเป็นแท่นหินบดยา (จารึกบริเวณใต้แท่นหิน) ที่พบเพียง 2 ชิ้นในประเทศไทย จึงทำให้คาถาเย ธมฺมาฯ มีความเกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยและการรักษาโรคให้ “ผู้ใช้แม่หินบดยา” ได้ตระหนักรู้โรค (ทุกข์) รู้สาเหตุ (สมุทัย) รู้วิธีการละและป้องกันสาเหตุ (นิโรธ) รู้แผนการหรือแนวทางการรักษาโรค (มรรค) และมีความเกี่ยวข้องกับ “ผู้ป่วย” โดยคาถานี้ทำให้ผู้ปฏิบัติดับทุกข์ได้ เมื่อการเป็นโรคทำให้เกิดทุกข์ ดังนั้นการดับทุกข์ก็คือการดับโรคนั่นเอง
บรรณานุกรม
“ศิลาจารึกแม่หินบดยา คาถาเย ธมฺมาฯ นฐ.5 และนฐ.6 ภาษาบาลี อักษรปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 12” จัดแสดง ณ กลุ่มหนังสือเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ.
จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 อักษรปัลลวะ อักษรหลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 11 - 14. พิมพ์ครั้งที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพฯ: หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2559. หน้า 214 – 219.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาคที่ 1 เล่มที่ 4. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2535. หน้า 73.