"ทรงแก้ไขธรรมเนียมข้าราชการเข้าเฝ้าให้สวมเสื้อ"
เรียบเรียงโดย : นางศิวพร เฉลิมศรี นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก
"ทรงแก้ไขธรรมเนียมข้าราชการเข้าเฝ้าให้สวมเสื้อ"
ในอดีตขนบธรรมเนียมการแต่งกายของข้าราชการที่เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินตามธรรมดาถ้าไม่หนาวก็จะไม่สวมเสื้อเข้าเฝ้า ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้นทรงมีพระราชาดำริว่า การไม่สวมเสื้อนั้นดูล้าสมัย และชาวต่างประเทศจะมองว่าคนไทยเป็นพวกชาวป่าดังปรากฎในหนังสือสมุดไทย พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ เล่ม ๑ เลขที่ ๑๐ ว่า
“เวลาวันหนึ่ง ข้าราชการเข้าเฝ้าที่พลับพลาโรงแสงพร้อมกัน ครั้งนั้นยังไม่มีธรรมเนียมที่จะสวมเสื้อเข้าเฝ้า จึงดำรัสว่าดูคนที่ไม่ได้สวมเสื้อเหมือนเปลือยกาย ร่างกายจะเป็นเกลื้อนกลากก็ดี หรือเหงื่อออกมาก็ดี โสโครกนัก ประเทศอื่นๆ ที่เป็นประเทศใหญ่เขาก็สวมเสื้อหมดทุกภาษา เว้นเสียแต่ละว้าลาวชาวป่าที่ไม่ได้บริโภคผ้าผ่อน เป็นมนุษย์อย่างต่ำ ก็ประเทศสยามนี้ก็เป็นประเทศใหญ่ รู้ขนบธรรมเนียมมากอยู่แล้ว ไม่ควรจะถือเอาอย่างโบราณที่เป็นชาวป่ามาก่อน ขอท่านทั้งหลายจงพร้อมใจกันสวมเสื้อเข้ามาในที่เฝ้าจงทุกคน ตั้งแต่นั้นมาเจ้าแลขุนนางก็สวมเสื้ออย่างน้อยเข้าเฝ้าทุกคน
ครั้นนานมาเห็นว่าเสื้ออย่างน้อยนั้นจะคาดผ้ากราบก็มิได้ จึงยักย้ายทำเป็นเสื้อกระบอกเหมือนเสื้อบ้าบ๋าบุตรจีนที่เมืองปัตเวีย ก็เป็นธรรมเนียมติดมาจนทุกวันนี้ ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินในกรุงเทพมหานครและหัวเมืองก็ปกติราบคาบ บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข เสนาบดีผู้ใหญ่ที่ได้ถวายความสัตย์แล้วออกมาที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กำกับให้ข้าราชการผู้น้อยๆ ทุกหมู่ทุกกรมถือน้ำพระพิพัฒนสัตยา ๑๕ วันจึงเสร็จการถือน้ำ” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจึงเริ่มมีธรรมเนียมข้าราชการสวมเสื้อเข้าเฝ้า
บรรณานุกรม
“พงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ เล่ม ๑.” หอสมุดแห่งชาติ. หนังสือสมุดไทยดำ. อักษรไทย.
ภาษาไทย. เส้นดินสอขาว. จ.ศ.๑๒๑๔ (พ.ศ. ๒๓๙๕). เลขที่ ๑๐. หมวดพงศาวดาร.