จารึกแผ่นดินเผาวัดเทพอุรุมภังค์ นบ.2 นี้ เป็นจารึกอักษร 8 บรรทัด ด้วยอักษรไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภาษาไทย ร.อ.อัมพร วิเศษจิตร ร.น. นำมาจากวัดเทพอุรุมภังค์ (วัดร้าง) ต.บางกระสอ อ.เมือง จ.นนทบุรี มอบให้กรมศิลปากร เมื่อพ.ศ.๒๔๙๙ มีเนื้อหาว่า “เมื่อพ.ศ. 2341 สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ (พระภาคิไนยใน ร.1) โปรดให้นำพระตำหนักแพมาสร้างเป็นพระอุโบสถของวัดแห่งหนึ่ง เพื่อเป็นปัจจัยให้ถึงซึ่งพระโพธิญาณ” ความโดดเด่นของจารึกนี้ คือ แสดงการใช้รูปอักษรและอักขรวิธีของอักษรไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้แก่
(1) การใช้พยัญชนะ “ฃ” ในคำว่า ฃอ (ขอ) และ “ถ” ที่มีเชิง เช่น คำว่า สำเรถิ (สัมฤทธิ), อุโบสํถ (อุโบสถ), ปรหัถ (พฤหัส)
(2) อักษรควบอักษร เช่น คำว่า พร (พระ), ศก และอักษรควบสระ เช่น คำว่า เชา (เช้า), เจา (เจ้า), ฟา (ฟ้า), ปี
(3) เครื่องหมายต่างๆ ได้แก่ “ฝนทอง” แทนสระอะครึ่งเสียง เช่น คำว่า ถ่วาย (ถวาย), สุภ่ม่ศ่ดุ (ศุภมัสดุ), สักก่ราช (ศักราช) “ฟันหนู” กำกับสระโอะลดรูป, สระออ และสระเออ เช่น คำว่า ศ"ก (ศก), ฃ"อ (ขอ), เธ"อ (เธอ) “นิคหิต” แทนสระโอะลดรูป เช่น คำว่า กรํม (กรม), หํก (หก), ทรํง (ทรง)
(4) การใช้พยัญชนะสะกดและพยัญชนะต้นตัวเดียวกัน เช่น คำว่า สัทา (ศรัทธา), สำเรถิ (สัมฤทธิ)
(5) ใช้รูปสระอี แทนรูปสระในตำแหน่งสระอิ และสระอือ เช่น คำว่า สีบ (สิบ), เทีด (เถิด), เดีอน (เดือน)
(6) ไม่ปรากฏใช้รูปวรรณยุกต์และไม้ไต่คู้ เช่น คำว่า ได (ได้), คำ (ค่ำ), สมเดจ (สมเด็จ), เจด (เจ็ด), เปน (เป็น)
(7) เขียนคำภาษาบาลีด้วยอักขรวิธีภาษาไทย ในคำว่า ปัดไจย (ปจฺจย)
(8) การใช้เครื่องหมาย “ฟองมัน (๏)” ขึ้นต้นความ และ “โคมูตร (๛)” จบความ
บรรณานุกรม
“จารึกแผ่นดินเผาวัดเทพอุรุมภังค์ นบ.2 ภาษาไทย อักษรไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น พ.ศ. 2341” จัดแสดง ณ กลุ่มหนังสือเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ
ก่องแก้ว วีระประจักษ์. วิเคราะห์เปรียบเทียบต้นฉบับตัวเขียนวรรณกรรมสุนทรภู่. กรุงเทพฯ: กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2530.
ประสาร บุญประคอง, 2509. “คำอ่านจารึกบนแผ่นดินเผา อักษรและภาษาไทย วัดเทพอุรุมภังค์ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี.” นิตยสารศิลปากร, 10 (3): 100 – 101.