บทความเกร็ดความรู้จากเอกสารโบราณ

rss

เกร็ดความรู้จากเอกสารโบราณ

เกร็ดความรู้จากเอกสารโบราณ

455266104_480689581256267_4357969562028163011_n.jpg

ปลูกเรือนที่นครเมกกะ

วันนี้ขอเสนอเรื่อง "ปลูกเรือนที่นครเมกกะ" เรียบเรียงเนื้อหาโดย นางสาวยุวเรศ วุทธีรพล นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก เนื้อหามีดังนี้

            นครเมกกะ เป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์เป็นศูนย์รวมความศรัทธาของชาวมุสลิมทั่วโลกที่มุ่งเดินทางไปแสวงบุญให้ได้สักครั้งในชีวิต ในอดีตศาสนิกชาวมุสลิมในสยามรวมทั้งชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในหัวเมืองที่จำนวนไม่น้อย เมื่อมีโอกาสคงได้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่เมืองเมกกะด้วย และคาดว่าคนเดินทางไปมากมายจนกระทั่ง แขก “แส๊กอะลี” ที่เมืองเมกกะ เขียนจดหมายมาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าผู้คนที่เดินทางไปเมืองเมกกะ ต่างถามถึงเรือนของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สร้างเอาอานิสงส์ให้ผู้เดินทางมาประกอบพิธีฮัจญ์ได้อาศัยพักนั้น อยู่ที่ใด “แส๊กอะลี” จึงอยากขอพระราชทานพระราชานุญาตสร้างเรือนพักไว้ ความว่า

          “บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้า ขอถวายตัวเป็นข้าในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทานเป็นผู้รับทำเรือนของในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทไว้ในเมืองมกะ จะได้เป็นที่อาศัยแก่คนทั้งหมดที่ทำการหะยี พอเป็นเกียรติยศแก่เมืองใหญ่เมืองเล็กที่ออกชื่อมาแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าขอพรทั้งกลางวันกลางคืนแต่ที่ศักดิ์สิทธิ์ จงบำรุงรักษาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงพระเจริญพระชนม์พรรษายิ่ง ๆ ขึ้นไป แลขอให้ไกลจากภัยอันตรายต่างๆ ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ”

           นอกจากนี้แขก “แส๊กอะลี” ยังนำน้ำมันกุหลาบจากเมืองอิตโมล จำนวน 12 ขวด น้ำกุหลาบจากเมืองตะเอม จำนวน 2 ขวดและน้ำผึ้งจากเมืองมะดีนะ จำนวน 2 ขวด มาทูลเกล้าฯ ถวายพร้อมจดหมายฉบับนี้ด้วย

ทั้งนี้เป็นเรื่องน่าสนใจ สำหรับชาวมุสลิมที่จะได้สืบเสาะหาข้อมูลต่อไปว่า “แส๊กอะลี”

ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ปลูกเรือนที่เมกกะหรือไม่ และหากได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว สถานที่ที่ท่านปลูกเรือนไว้นั้นอยู่แห่งใดในนครเมกกะ และปัจจุบันนี้สถานที่นั้นเป็นอย่างไรบ้าง ผู้เรียบเรียงเชื่อว่าผู้อ่านทุกท่านคงอยากทราบเช่นกัน

บรรณานุกรม

คำแปลหนังสือแขก ชื่อแส๊กอะลี เมืองมกะ ทูลเกล้าฯ ขอปลูกเรือน. หอสมุดแห่งชาติ. หนังสือสมุดไทยดำ. อักษรไทย. ภาษาไทย. เส้นรงค์ (ดินสอ, หรดาล). จ.ศ.1229 (พ.ศ.2410). เลขที่ 20. หมวดจดหมายเหตุ ร.4.



Comments are closed.