บทความเกร็ดความรู้จากเอกสารโบราณ

rss

เกร็ดความรู้จากเอกสารโบราณ

เกร็ดความรู้จากเอกสารโบราณ

จารึกคาถาป้องกันอสนีบาต พล.1.jpg

ศิลาจารึกคาถาป้องกันอสนีบาต พล.1

วันนี้ขอเสนอเรื่อง “ศิลาจารึกคาถาป้องกันอสนีบาต พล.1” เรียบเรียงโดย นางสาวชญานุตม์ จินดารักษ์ นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ เนื้อหามีดังนี้

         กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ ได้นำศิลาจารึกหลักสำคัญมาจัดแสดงไว้ให้ผู้สนใจได้ศึกษาพัฒนาการตัวอักษรโบราณพร้อมอักขรวิธี และศึกษาเนื้อหาที่เป็นความเชื่อของคนโบราณ

          ในอดีต “อสนีบาตหรือฟ้าผ่า” เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ไม่สามารถอธิบายที่มาที่ไปได้ ทั้งนำความสูญเสียมาสู่ชีวิตและทรัพย์สินของชาวนาชาวไร่ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง และเป็นลางร้ายว่าจะเกิดเหตุอัปมงคลต่างๆ ขึ้นในสังคม เพื่อป้องกันไม่ให้อสนีบาตเกิดขึ้น การสวดอ้อนวอนสิ่งศักดิ์ที่ตนนับถือให้ช่วยคุ้มครองป้องกันจึงเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุด คาถาป้องกันอสนีบาตในจารึกนี้ เป็นคาถาภาษาสันสกฤต บันทึกด้วยอักษรขอมสุโขทัย พุทธศตวรรตที่ 20 เพื่อสวดอ้อนวอนขอให้พระศิวะ และเทพสำคัญที่เกี่ยวข้อง จงปัดเป่าให้อสนีบาตไปตกในที่ห่างไกลเหตุที่สวดอ้อนวอนพระศิวะอาจมาจากการระลึกถึงคุณแห่งความเป็นเทพรุทระของพระองค์ที่เกี่ยวกับลมพายุฝนฟ้าคะนองเหมือนพระอินทร์ในสมัยพระเวท ที่คนจะบูชาเพื่อไม่ให้เกิดภัยพิบัติ แต่ในสมัยพระเวทก็มีคาถาป้องกันอสนีบาตที่ใช้สวดอ้อนวอนเทพที่เกี่ยวกับฟ้าแลบฟ้าผ่าโดยตรงคือ “พระอัคนี” ให้ปัดเป่าอสนีบาตไปไกล เป็นคาถาภาษาสันสกฤตเช่นเดียวกัน มีความว่า ข้าแต่พระเจ้าทั้งหลาย! ผู้อยู่ในท้องฟ้า อยู่ในโลก และอยู่ในบรรยากาศอันกว้างใหญ่ ข้าแต่ชาตเวทัส (พระอัคนี)!  ผู้อยู่ในภูเขา ในหิน ในน้ำ ข้าแต่พระเจ้าทั้งหลาย! ขอพระองค์จงปัดเป่าให้อสนีบาตห่างไกลด้วย

บรรณานุกรม
“จารึกคาถาป้องกันอสนีบาต พุทธศตวรรษที่ 20”. ใน ประชุมจารึก ภาคที่ ­­8 จารึกสุโขทัย. กรุงเทพฯ:

กรมศิลปากร, 2548, น.356-358.
“บทที่ ๗ ศาสนา ลัทธิ หลักคำสอน และอภิปรัชญา”. ใน กาญจนี ละอองศรี และคณะ. อินเดียมหัศจรรย์.

กรุงเทพฯ: มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, 2559, น.387, 389, 393 และ 515.
Paippalāda-saṁhitā of the Atharva-veda: Kāṇḍa 15: Sūkta 22.4. https://gretil.sub.uni-goettingen.de/gretil/corpustei/transformations/html/sa_paippalAdasaMhitA.htm



Comments are closed.